วันอาทิตย์ที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ข้อสอบปลายภาค


1.ความหมายคำว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด  
พระราชกฤษฎีกา  เทศบัญญัติ  
                กฎหมายรัฐธรรมนูญ  คือ กฎหมายสูงสุดที่ใช้ในการปกครองประเทศ  กฎเกณฑ์ที่กำหนดสถานะและความสัมพันธ์ขององค์กรที่ใช้อำนาจสูงสุดต่อกันหรือต่อประชาชน (เน้นที่เนื้อหาสาระของกฎหมาย ครอบคลุมไปถึงรูปแบบของรัฐ,องค์กรที่ใช้อำนาจ ตลอดจนสิทธิเสรีภาพ)
                พระราชบัญญัติ คือ กฎหมายที่พระมหากษัตริย์ตราขึ้นโดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภา เนื้อหาของพระราชบัญญัตินั้นจะกำหนดเนื้อหาในเรื่องใดก็ได้ แต่ต้องไม่ขัดหรือ แย้งกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญทั่วไป เรียกว่า ประเพณีการปกครองของประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตย นอกจากนี้เนื้อหาของพระราชบัญญัติยังมีลักษณะกำหนดกฎเกณฑ์เป็นการทั่วไปในการก่อตั้ง เปลี่ยนแปลง กำหนดขอบเขตแห่งสิทธิและหน้าที่ของบุคคล ตลอดจนจำกัดสิทธิเสรีภาพ ของบุคคลได้ตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจไว้
                พระราชกำหนด   คือ กฎหมายที่บัญญัติโดยฝ่ายบริหาร(คณะรัฐมนตรี) 
พระราชกำหนดเป็นรูปแบบหนึ่งของกฎหมายที่ฝ่ายบริหารคือ พระมหากษตริย์โดยคำแนะนำและยินยอมของคณะรัฐมนตรีตราขึ้นโดยอำนาจที่รัฐธรรมนูญให้ไว้
                พระราชกฤษฎีกา  คือ กฎหมายที่ตราขึ้นโดยพระมหากษัตริย์โดยคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี
กฎหมายที่เทศบาลออกเพื่อใช้บังคับในเขตเทศบาลทั้งนี้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติเทศบาล
ผู้เสนอร่างเทศบัญญัติ ได้แก่ นายกเทศมนตรี สมาชิกสภาเทศบาล หรือราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเทศบาลตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอข้อบัญญัติท้องถิ่น

2.กฎหมายรัฐธรรมนูญ ที่ใช้ในการปกครองประเทศ ปัจจุบันเป็นอย่างไร         
ในการกำหนดออกกฎหมายสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดของการประกาศใช้
เป็นอย่างไร หากเราไม่มีรัฐธรรมนูญนักศึกษาคิดว่าจะเป็นอย่างไร อธิบาย
                ประเทศไทยได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายที่สำคัญสูงสุดของประเทศที่มี การปกครองในระบอบประชาธิปไตย การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเริ่มต้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรสยาม เมื่อ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา ต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลง แก้ไขและประกาศใช้รัฐธรรมนูญหลายฉบับเพื่อให้เหมาะสมและสอดคล้อง กับภาวะการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย ในการกำหนดออกกฎหมายสิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากที่สุดของการประกาศใช้คือ ความซื่อสัตย์ และไม่หวังประโยชน์ส่วนตน ดังเช่นที่เราพบเห็นบ่อยๆในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญหรือแก้ไขรัฐธรรมนูญในแต่ละครั้ง จึงจะเห็นได้ว่ากลุ่มผลประโยชน์ต่างๆจึงพยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันใส่ข้อความที่ตนต้องการลงไปในรัฐธรรมนูญ ทั้งภาคประชาชน หรือ ในกลุ่มสมาชิกสภาร่าง รัฐธรรมนูญเอง และการบัญญัติสิ่งใดลงในรัฐธรรมนูญมากเกินไปจนถึงขั้นรายละเอียดนั้นเป็นสิ่งไม่พึงกระทำ เพราะลักษณะของกฎหมายที่ดีอย่างหนึ่ง คือ บัญญัติหลักการไว้กว้างๆ และให้รายละเอียดออกมาเป็นกฎหมายลูกซึ่งออกได้ง่ายกว่า หากเราไม่มีรัฐธรรมนูญ ดิฉันคิดว่าประเทศไทยคงจะวุ่นวายกว่านี้ เพราะขนาดมีกฎหมายออกมาบริหารประเทศแล้ว คนไทยก็ยังคงประสบกับปัญหาต่างๆมากมาย เช่นเรื่องการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ และการปกครองล้วนแล้วแต่ยังประสบปัญหา และถ้าไม่มีกฎหมายมารองรับ ดิฉันคิดว่าประเทศไทยคงเป็นเมืองที่แย่ที่สุดในสายตาชาวโลก

3.ในสภาพปัจจุบันการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 112 มีนักวิชาการต้องการจะแก้ไขท่านคิดว่าควรที่จะแก้ไขหรือไม่ประเด็นใดอธิบายให้เหตุผล
                ดิฉันคิดว่าไม่ควรแก้ไข เพราะประเด็นที่พวกเขาต้องการแก้ไขนั้นเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบัน ซึ่งมีการใช้แบบนี้มาตั้งนานแล้ว  ตลอดระยะเวลาที่พระองค์ท่านครองราชย์มาจนมีพระชนมายุ 84 พรรษามาแล้ว แต่คนที่เป็นนักวิชาการอายุเพียงแค่ 30-40 ปีเรียนหนังสือจบมาแล้วมาแก้ไขอย่างนั้น อย่างนี้ ซึ่งดิฉันคิดว่าเป็นการไม่ให้ความเคารพสถาบัน โดยดิฉันมีความคิดเห็นว่าคนกลุ่มนี้กำลังใช้การแก้ไขกฎหมายเป็นเครื่องมือในการจุดชนวนให้คนไทยมีความขัดแย้งกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งการที่จะแก้ไข ไม่ได้ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติแต่อย่างใด มากกว่าการช่วยเหลือพวกพ้องกลุ่มตัวเองแค่นั้น

4.กรณีเกิดความขัดแย้งระหว่างเพื่อนบ้านเรื่องชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชาที่เป็นกรณีพิพากขึ้นศาลโลกเรื่องดินแดนท่านเป็นคนไทยคนหนึ่งมองปัญหานี้อย่างไร และจะมีวิธีการแก้ไขอย่างไรเพื่อมิให้ไทยต้องเสียดิน แดน
                ดิฉันคิดว่ามันเป็นการเสียสิทธิที่เราสมควรพึงจะได้ ซึ่งจริงๆแล้วที่ตรงนั้นใครก็อยากได้ครอบครอง ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย หรือประเทศกัมพูชา แต่มันต้องขึ้นอยู่กับความถูกต้องของหลักฐานในอดีต ซึ่งมันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ยังหาข้อยุติไม่ได้ ปัญหาดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะความขัดแย้งจะกลายเป็นปม หรือชนวนก่อให้เกิดสงครามกันได้ แน่นอนว่าความขัดแย้งระหว่างสองประเทศ นั้นจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพียงแค่สองประเทศเท่า นั้น หากแต่ยังจะส่งผลกระทบเป็นโดมิโนไปยังประเทศและความร่วมมืออื่นๆ เพราะในกรณีของไทยกับกัมพูชานั้น ทั้งสองเป็นสมาชิกของอาเซียน และโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง หรือจีเอ็มเอส  ดิฉันคิดว่าการแก้ไขปัญหานี้คือการยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือในหลายๆฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่กระนั้นก็เป็นการยากกว่าหากเราลองเปิดใจยอมรับ ในกฎเกณฑ์ธรรมชาติ คิดเสียว่าพื้นที่ตรงนั้น ก็คือภาพจินตนาการที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อที่จะบอกให้รู้ว่าเราได้อยู่ใช้ชีวิตตรงนั้นมานานแล้ว โดยไม่เคยมีปัญหากับคนสมัยโบราณ แต่คนสมัยนี้กลับใช้มันเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมความเป็นชีวิตสมัยนิยม เพราะแท้ที่จริงแล้วมันเป็นแค่เส้นเขตแดน มันพาดผ่านทอดทับหมู่บ้าน ผู้คน กลุ่มชน และครอบครัวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่นั้นๆมานานแล้ว แต่แค่แยกให้เขา และเราออกจากกัน ว่าตรงนั้นเป็นประเทศเรา ตรงนี้เป็นประเทศเขา ไม่น่าจะเอาเรื่องแค่นี้ มาบั่นทอนหรือเป็นชนวนทำลายสัมพันธภาพอันดีระหว่างเพื่อนบ้านกันเลย สิ่งเล็กๆที่ยิ่งใหญ่ในการแก้ปัญหาเรื่องดินแดนคือการล้างใจมนุษย์ไม่ให้ยึดติดกับสิ่งใดก่อน

5.พระราชบัญญัติการศึกษาเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญการศึกษา ท่านเห็นด้วยกับประเด็นนี้หรือไม่ อธิบายให้เหตุผล
                ดิฉันเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม หากเรามีข้อกำหนด หรือข้อตกลงร่วมกัน ก็ย่อมเกิดผลดีมากกว่าการไม่มีกฎเกณฑ์อะไรเลย และเรื่องของการศึกษาก็เช่นกันสมควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีการตั้งกฎหมายมาใช้ในการศึกษาเพื่อให้การศึกษาเป็นไปอย่างมีระเบียบและแบบแผน ซึ่งในกฎหมายจะมีการบัญญัติแนวทางในการจัดการศึกษา การบริหารและการจัดการศึกษาทั้งของรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาและต่างๆอีกมากมายที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อด้านการศึกษา มีการพัฒนาสื่อและเทคโนโลยีในการศึกษา ซึ่งสิ่งนี้จะเป็นแบบแผนให้ประเทศไทยมีการศึกษาที่เป็นระบบ และพัฒนาเด็กและกำลังของชาติให้มีความรู้คู่คุณธรรม เพื่อที่จะสามารถนำความรู้ที่มีไปพัฒนาประเทศต่อไป

6.ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ ขอให้นักศึกษาให้ความหมาย การศึกษา  การศึกษาขั้นพื้นฐาน  การศึกษาตลอดชีวิต  การศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ  การศึกษาตามอัธยาศัย  สถานศึกษา  สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  มาตรฐานการศึกษา  การประกันคุณภาพภายใน  การประกัน คุณภาพภายนอก  ผู้สอน  ครู  คณาจารย์  ผู้บริหารการศึกษา   ผู้บริหารสถานศึกษา  บุคลากรทางการศึกษา  
สถานศึกษา
                การศึกษา หมายถึงกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญของบุคคลและสังคมโดยการถ่ายทอดความรู้ การฝึก การอบรม การสืบสานทางวัฒนธรรม การสร้างสรรค์จรรโลงความก้าวหน้าทางวิชาการ การสร้างองค์ความรู้อันเกิดจากการจัดสภาพแวดล้อม สังคมการเรียนรู้และปัจจัยเกื้อหนุนให้บุคคลเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
             การศึกษาขั้นพื้นฐาน  คือ การศึกษาก่อนระดับอุดมศึกษา
                การศึกษาตลอดชีวิต หมายความว่า  การศึกษาที่เกิดจากการผสมผสานระหว่างการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต
                การศึกษาในระบบ เป็นการศึกษาที่กำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน การศึกษาในระบบเช่นนี้ หมายถึงการศึกษาที่จัดรูปแบบไว้แน่นอนเป็นเกณฑ์มาตรฐานเดียวกัน ส่วนใหญ่จัดในโรงเรียน วิทยาลัย มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเรียกอย่างอื่น ซึ่งเรารู้จักคุ้นเคยกันดีอยู่แล้ว การศึกษาในระบบอาจจัดในชั้นเรียนหรือเป็นการศึกษาทางไกลก็ได้
                การศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่มตัวอย่างของการศึกษานอกระบบ ได้แก่ การศึกษานอกโรงเรียน การฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ เป็นต้น
                การศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการศึกษาที่ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ศักยภาพ ความพร้อมและโอกาส โดยศึกษาจากบุคคล ประสบการณ์สังคม สภาพแวดล้อม สื่อหรือแหล่งความรู้อื่นๆ การศึกษารูปแบบนี้มีความยืดหยุ่นสูง เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเรียนรู้สามารถเลือกเนื้อหาที่สนใจเป็นประโยชน์กับตนได้ และสามารถใช้เวลาที่ปลอดจากภารกิจการงานอื่นศึกษาเล่าเรียนได้ จึงเรียกว่าเป็นการศึกษาตามอัธยาศัย ทั้งนี้รูปแบบของการศึกษาตามอัธยาศัยมีหลากหลาย เช่น การฟังบรรยายพิเศษ การศึกษาจากเอกสาร การเยี่ยมชม การชมการสาธิต การรับฟังรายการวิทยุกระจายเสียง รายการวิทยุโทรทัศน์ การสืบค้นเนื้อหาสาระจากอินเทอร์เน็ตหรือแหล่งเรียนรู้ต่างๆ เป็นต้น เนื่องจากรัฐมีหน้าที่ร่วมกับชุมชนจัดแหล่งเรียนรู้ ผู้บริหารและครูควรเข้ามามีส่วนใกล้ชิดร่วมมือกับประชาชนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยรูปแบบวิธีการต่างๆ
                สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  หมายความว่า  สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                มาตรฐานการศึกษา  หมายความว่า  ข้อกำหนดเกี่ยวกับคุณลักษณะคุณภาพที่พึงประสงค์และมาตรฐานที่ต้องการให้เกิดในสถานศึกษาและเพื่อใช้เป็นหลักเทียบเคียงสำหรับการส่งเสริมและกำกับดูแล การตรวจ-สอบ การประเมินผล และการประกันคุณภาพ                                                                
                การประกันคุณภาพภายใน หมายความว่าการประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายในโดยบุคลากรของสถานศึกษานั้นเอง หรือโดยหน่วยงานต้นสังกัดที่มีหน้าที่กำกับดูแล                                                                                                                                       
                การประกันคุณภาพภายนอก หมายความว่า  การประเมินผลและการติดตามตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาจากภายนอก โดยสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษาหรือบุคคลหรือหน่วยงานภายนอกที่สำนักงานดังกล่าวรับรอง เพื่อเป็นการประกันคุณภาพและให้มีการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา
                ผู้สอน หมายถึง ครูและคณาจารย์ในสถานศึกษาระดับต่าง ๆ
ครู หมายความว่า  บุคลากรวิชาชีพซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการเรียนการสอนและการส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน
                คณาจารย์  หมายความว่า  บุคลากรซึ่งทำหน้าที่หลักทางด้านการสอนและการวิจัยในสถานศึกษาระดับอุดมศึกษาระดับปริญญาของรัฐและเอกชน
ผู้บริหารการศึกษา หมายความว่า  บุคลากรวิชาชีพที่รับผิดชอบการบริหารการศึกษานอกสถานศึกษาตั้งแต่ระดับเขตพื้นที่การศึกษาขึ้นไป
                ผู้บริหารสถานศึกษา  หมายความว่า  บุคลากรวิชาชีพที่รับผิดชอบการบริหารสถานศึกษาแต่ละแห่ง ทั้งของรัฐและเอกชน
                บุคลากรทางการศึกษา  หมายความว่า  ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้บริหารการศึกษารวมทั้งผู้สนับสนุนการศึกษาเป็นผู้ทำหน้าที่ให้บริการ หรือปฏิบัติงานเกี่ยวเนื่องกับการจัดกระบวนการเรียนการสอน การนิเทศ และการบริหารการศึกษาในหน่วยงานการศึกษาต่าง ๆ
                สถานศึกษา หมายความว่า  สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย โรงเรียน ศูนย์การเรียนวิทยาลัย สถาบัน มหาวิทยาลัย หน่วยงานการศึกษาหรือหน่วยงานอื่นของรัฐหรือของเอกชน ที่มีอำนาจหน้าที่หรือมีวัตถุประสงค์ในการจัดการศึกษา

7.ในการจัดการศึกษานักศึกษาคิดว่ามีความมุ่งหมายและหลักการจัดการในการจัดการศึกษา อย่างไร
ดิฉันคิดว่าพระราชบัญญัติฉบับนี้มีเจตนารมณ์ที่ต้องการเน้นย้ำว่าการจัดการศึกษาต้องเป็นไปเพื่อพัฒนาคนไทยให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิตสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ซึ่งการจัดการศึกษา ต้องยึดหลักดังนี้
1) เป็นการศึกษาตลอดชีวิตสำหรับประชาชน
2) ให้สังคมมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา
3) การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง
สำหรับเรื่องการจัดระบบ โครงสร้างและกระบวนการจัดการศึกษา ต้องยึดหลักดังนี้
1) มีเอกภาพด้านนโยบายและมีความหลากหลายในการปฏิบัติ
2) มีการกระจายอำนาจไปสู่เขตพื้นที่การศึกษา สถานศึกษา และองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่น
3) มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษาและจัดระบบประกันคุณภาพการศึกษาทุก ระดับและประเภท
4) มีหลักการส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพและการพัฒนาครู คณาจารย์ และบุคลากร ทางการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
5) ระดมทรัพยากรจากแหล่งต่าง ๆ มาใช้ในการจัดการศึกษา
6) การมีส่วนร่วมของบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น
ซึ่งทั้งหมดนี้สิ่งที่สำคัญที่สุดอยู่ที่ตัวครูผู้สอน เพราะครูผู้สอนต้องมีการวางแผนและหลักการในการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างสูงสุด มีการพัฒนาสื่อการสอน และแผนการสอนให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน มีการพัฒนาตัวเองอยู่เสมอในด้านของงานวิชาการและกิจกรรมต่างๆ

8.มีบุคคลหนึ่งเข้าไปเป็นครูสอนหนังสือในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอยู่เป็นประจำกรณีมิได้รับการบรรจุเป็นครู หากพิจารณาตามกฎหมายถ้าผิดกฎหมายท่านคิดว่าจะถูกลงโทษอย่างไร   หากไม่ผิดกฎหมายท่านคิดว่าจะมีวิธีการทำอย่างไร
ดิฉันคิดว่าน่าจะมีการสอบถามความประสงค์ของตัวผู้สอนเสียก่อน หากว่ามีการกระทำที่ขัดแย้งหรือผิดกฎหมายจริงก็สมควรได้รับการตักเตือนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากไม่ผิดกฎหมายก็สมควรได้รับคำแนะนำในการขอใบประกอบวิชาชีพจากคุรุสภา สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการให้ความรู้ในเรื่องนี้แก่ผู้ที่ยังไม่รุ้

9.หากนักศึกษาต้องการสอบบรรจุเป็นครูผู้ช่วยจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
                (1) มีอายุไม่ต่ำกว่ายี่สิบปีบริบูรณ์
              (2) มีวุฒิปริญญาทางการศึกษา หรือเทียบเท่า หรือมีคุณวุฒิอื่นที่คุรุสภารับรอง
              (3) ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติทั่วไปตามมาตรา 30 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551
              (4) ต้องเป็นผู้ได้รับวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษาหรือทางอื่นที่ ก.ค.ศ.กำหนดเป็นคุณสมบัติเฉพาะสำหรับตำแหน่งนี้ ตามกลุ่มวิชา/สาขาวิชาเอก
              (5) ไม่เป็นพระภิกษุสงฆ์ หรือสามเณร นักพรต นักบวช

10.ให้นักศึกษาแสดงความคิดเห็นว่าเมื่อเรียนวิชานี้ นักศึกษาได้อะไรบ้างครูผู้สอนวิชาชีพโดยใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ Weblog มีความเหมาะสมและเป็นไปได้อย่างไร  วิจารณ์แสดงความคิดเห็น และถ้าจะให้น้ำหนักวิชานี้ ควรให้เกรดอะไร  และนักศึกษาคิดว่าตนเองจะได้เกรดอะไร
                ดิฉันชื่นชอบในแนวคิดและหลักการในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชานี้มาก โดยเฉพาะในเรื่องของการนำ Weblog มาใช้ เพราะวิชานี้เป็นวิชาที่ยากและค่อนข้างน่าเบื่อสำหรับนักศึกษาที่เรียนเกี่ยวกับภาษา แต่อาจารย์กลับนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอน ซึ่งมีความแปลกใหม่และทันสมัย จึงทำให้การเรียนในห้องดูไม่น่าเบื่อ เพราะนักศึกษาทุกคนก็ชื่นชอบในการใช้อินเตอร์เน็ตอยู่แล้ว และไม่จำเจไม่ต้องมานั่งเปิดหนังสืออ่าน แต่เราสามารถโหลดไฟล์ต่างๆมาเก็บไว้ในคอมพิวเตอร์และเปิดอ่านในสิ่งที่เราจำเป็นต้องเรียนรู้ ดีกว่าการพกกระเป่าที่บรรจุเอกสารหรือหนังสือต่างๆไว้มากมาย ไม่ต้องมานั่งเขียนรายงายให้เมื่อยมือ แต่เราสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาจัดการกับการเรียนรู้ของเราได้อย่างดี มีการเผยแพร่บทความเกี่ยวกับการศึกษาไว้ให้คนอื่นที่สนใจได้ศึกษาต่อๆกัน  ดิฉันให้เกรดเอค่ะ เพราะเรียนแบบสบายๆมาก ไม่เครียด ไม่กดดันและที่สำคัญอาจารย์ใจดีค่ะ คุยสนุก  ดิฉันอยากได้เกรดเอค่ะ หวังไว้มากๆเลย ดิฉันพยายามทำ Blog ออกมาให้ดีที่สุด แต่ก็ติดขัดเรื่องอินเตอร์เน็ตที่หอนี่แหละค่ะ ช้ามาก บางวันก็ทำอะไรไม่ได้เลย